คำาพิพากษาศาลฎีกาทีี่ 1412/2549
ศาลฎีกามีความเห็นโดยสรุปดังนี้:
โจทก์ (บริษัท) อ้างว่า กรรมการเดินทางไปประเทศสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ เพื่อหาตลาดขายสินค้าของบริษัท ส่วนการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นก็เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าจนสามารถรักษาลูกค้าไว้ได้
ในทางพิจารณาจำเลย (กรมสรรพากร) นำสืบได้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศตามใบสำคัญจ่ายระบุว่า เป็นค่าตั๋วเครื่องบินและค่าทัวร์ประเทศสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก แต่ในปี 2533 บริษัทเป็นเพียงผู้ผลิตและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ บริษัทเพิ่งจะมาเริ่มส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศเมื่อกลางปี 2535 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ บริษัทจะต้องหาตลาดสินค้าในต่างประเทศล่วงหน้าถึง 2 ปี ส่วนค่าใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตามบัตรเครดิตตามใบสำคัญจ่าย ซึ่งเป็นค่าโรงแรมที่พักในประเทศญี่ปุ่น ก็มิใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นของบริษัท เพราะบริษัทมิใช่ผู้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องไปชี้แจงเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้า
จากกรณีดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกามีความเห็นว่า การเดินทางไปต่างประเทศโดยอาศัยบริการจากบริษัททัวร์นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ผู้เดินทางมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งการเดินทางไปท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์นั้นกรรมการของบริษัทจะต้องเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ตามรายการที่กำหนดไว้พร้อมกับผู้อื่นที่ร่วมท่องเที่ยวอีกหลายคน จึงไม่น่าเชื่อว่ากรรมการของบริษัทจะมีเวลาไปติดต่อหาลูกค้าเพื่อเปิดตลาดสินค้าของบริษัทได้ทัน ส่วนกรณีการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสินค้าให้แก่ลูกค้านั้นก็ปรากฏว่าในปี 2533 บริษัทมีบริษัทในเครือและเป็นลูกค้าของบริษัทที่รับซื้อสินค้าจากบริษัทไปจำหน่ายยังต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่กรรมการของบริษัทต้องไปดำเนินการดังกล่าวในนามของบริษัทอีก นอกจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารในการติดต่อทางการค้ากับลูกค้าของบริษัทในต่างประเทศที่จะมาพิสูจน์ให้เห็นว่า กรรมการของบริษัทได้ไปติดต่อหาลูกค้าในต่างประเทศหรือแก้ไขปัญหาสินค้าของบริษัทในต่างประเทศมาแสดงต่อศาล นอกจากนามบัตรของลูกค้าชาวรัสเซีย 6 ใบ มาอ้างว่ากรรมการของบริษัทไปติดต่อลูกค้าต่างประเทศเท่านั้น สำหรับค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครติดก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการค้าของบริษัทอย่างไร จึงไม่มีน้ำหนักในอันที่จะทำให้ศาลเชื่อว่ากรรมการของบริษัทได้กระทำการดังกล่าวจริง จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
หมายเหตุ
เพื่อให้สามารถถือเป็นรายจ่ายได้ บริษัทฯ ควรมีหลักฐานดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีรายงานการประชุมที่อนุมัติให้เดินทาง
2. มีหลักฐานแสดงวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการเดินทางไปต่างประเทศ และเกี่ยวข้อง
กับการประกอบกิจการแสวงหากำไรของบริษัท เช่น หัวข้อเรื่องและวาระการประชุม
3. เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็ควรจะมีรายละเอียดรายงานการเดินทาง/การประชุม ซึ่งสามารถ
เชื่อมโยงได้กับการประกอบกิจการของบริษัทในช่วงระหว่างเวลานั้นๆ
4. ไม่ควรเดินทางไปกับบริษัททัวร์
5. รายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ควรระบุรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เกี่ยวข้องกับ
กิจการในทางการค้าอย่างไร และควรมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินมาประกอบการลงรายจ่าย
ของบริษัท
15 มิถุนายน 2550
Copyright (c) 2014 - 2025 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by
CRiT SERVICE |
CHECK MAIL |
BOOKMARK |
NR SERVICE